วันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรอยุธยากับชาติตะวันตก


ความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรอยุธยากับชาติตะวันตก
     1. โปรตุเกส ส่งทูตมาเจรจาทำสัญญาฉบับแรกกับกรุงศรีอยุธยา ใน พ.ศ. 2059 ตรงกับสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทำให้ชาวโปรตุเกส ได้สิทธิพิเศษด้านการค้า การตั้งถิ่นฐานในกรุงศรีอยุธยา การทำสัญญาดังกล่าวทำให้การค้าระหว่างกรุงศรีอยุธยากับโปรตุเกสเฟื่องฟูขึ้น จนกรุงศรีอยุธยากลายเป็นแหล่งสินค้าสำคัญสำหรับพ่อค้าโปรตุเกส
     2. สเปน ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับสเปนเริ่มต้นในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้มีทูตของสเปนเดินทางมายังกรุงศรีอยุธยาเพื่อทำสัญญาสัมพันธไมตรีและการค้า โดยฝ่ายกรุงศรีอยุธยาอนุญาตให้สเปนตั้งสถานีการค้าบนฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แต่การค้าระหว่างกรุงศรีอยุธยากับสเปนไม่สู้จะราบรื่นนัก
     3. ฮอลันดา พ.ศ. 2146 ฮอลันดาได้เข้ามาตั้งสถานีการค้าที่ปัตตานี ซึ่งเป็นเมืองประเทศราชของกรุงศรีอยุธยาในขณะนั้น ฮอลันดาจึงส่งทูตเข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อขอตั้งสถานีการค้า แต่การค้าและความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับฮอลันดาในระยะหลัง ไม่ค่อยราบรื่นนัก ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับฮอลันดาเสื่อมลงตามลำดับ จนฮอลันดาต้องปิดสถานีการค้าไปในที่สุด
     4. อังกฤษ อังกฤษเริ่มเข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยา ใน พ.ศ. 2155 ตรงกับสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม โดยต้องการเจริญสัมพันธไมตรีและการค้ากับไทย แต่การค้าของอังกฤษไม่ค่อยประสบผลสำเร็จมากนัก ถึงแม้ว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจะทรงให้อังกฤษเข้ามาค้าขายเพื่อถ่วงดุลอำนาจของฮอลันดาก็ตาม ในปลายสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อังกฤษมีเรื่องบาดหมางกับไทย เพราะอังกฤษไม่พอใจออกญาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ขุนนางไทยเชื้อสายกรีก จึงมีอำนาจควบคุมพระคลังสินค้า อังกฤษกล่าวหาว่าออกญาวิไชเยนทร์ทำการค้าแข่งกับอังกฤษ ในที่สุดเกิดสงครามระหว่างไทยกับอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2230 ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยา
กับอังกฤษจึงยุติลง

     5. ฝรั่งเศส สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงต้องการให้ฝรั่งเศสเป็นพันธมิตรกับกรุงศรีอยุธยา เพื่อถ่วงดุลอำนาจของฮอลันดา ซึ่งมีท่าทีคุกคามไทย จึงมีการติดต่อทางการค้าและทางการทูตกัน พ่อค้าฝรั่งเศสได้เข้ามาตั้งสถานีการค้าในอยุธยาเป็นครั้งแรก ทางฝรั่งเศสได้จัดส่งคณะทูตชุดใหญ่ ซึ่งมี เชอวาเลีย เดอ โชมองต์ เป็นหัวหน้าเดินทางมาเยือนกรุงศรีอยุธยา ต่อมาภายหลังกรุงศรีอยุธยาได้ส่งออกพระวิสุทธสุนทร (โกษาปาน) ราชทูตไทย ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสและได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่พระราชวังแวร์ซายส์ เมื่อเดินทางกลับกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2230 ฝรั่งเศสได้จัดส่งกองทหารมาประจำที่เมืองมะริดและบางกอก มีจุดประสงค์ที่จะยึดเมืองทั้งสองไว้ แต่สมเด็จพระเพทราชาได้ทำการต่อต้านจนมีการสู้รบกับทหารของฝรั่งเศส ต่อมามีการเจรจาสงบศึกกันได้โดยทหารและชาวฝรั่งเศสต้องออกไปนอกอาณาจักร 

ที่มา http://www.aksorn.com/lib/detail_print.php?topicid=522

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น